แมลงวันผลไม้และการป้องกันกำจัด
แมลงวันผลไม้เป็นแมลงในวงศ์ เทฟริติดี้ (Tephritidae) แมลงในวงศ์นี้ประกอบด้วยแมลงวันผลไม้ซึ่งเป็นศัตรูพืชที่สำคัญของพืชผักและ ผลไม้ มากกว่า 4,000 ชนิด ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในเขตหนาว เขตอบอุ่นและเขตร้อนของโลก ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 800 ชนิดที่พบในเขตภาคพื้นทวีปเอเซีย แม้ว่าแมลงวันผลไม้ส่วนใหญ่จะทำลายในส่วนของผลก็ตาม แต่แมลงวันผลไม้ก็สามารถเข้าทำลายทุกส่วนของพืชได้ไม่ว่าจะเป็นส่วนดอก ใบ ลำต้น หรือรากก็ตาม แมลงวันผลไม้บางชนิด ( เกือบ 200 ชนิด) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปุ่มปมบนพืช ซึ่งจัดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญเป็นอันดับที่ 2 รองลงมาจากแมลงในกลุ่ม เซซิโดมายอิดี้ (Cecidomyiidae) แมลงวันผลไม้พวกที่ทำลายส่วนของผลไม้ที่สำคัญได้แก่ แมลงวันผลไม้ชนิด แมลงวันแตง (Bactrocera cucurbitae) แมลงวันทอง (B. dorsalis) แมลงวันเมดิเตอร์เรเนียน (Ceratitis capitata) แมลงวันอัฟริกัน (Anastrepha suspense) ซึ่งล้วนเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญในเขตอบอุ่น และเขตร้อนของโลก ในขณะที่แมลงวันผลไม้ชนิด Dioxyna sorrocula, Procecidochares utilis, Bactrocera caudata พบทำลายพืชอยู่ในส่วนของดอก บริเวณที่จะเจริญเติบโตเป็นเมล็ดต่อไป
แมลงวันผลไม้ในวงศ์เทฟริติดี้ เป็นแมลงที่มีแถบสีดำบนปีก คล้ายคลึงกับแมลงวันในวงศ์อื่นๆ เช่น พลาติสโตมาติดี้ (Platystomatidae) ออติติดี้ (Otitidae) เป็นต้น ลักษณะปีกและเส้นปีกของแมลงวันผลไม้จัดเป็นลักษณะทางกายภาพที่สำคัญในการ จำแนกชนิดแมลงวันผลไม้โดยทั่วไป ตัวหนอนของแมลงวันในวงศ์นี้มีสองลักษณะ ลักษณะแรกรูปทรงป้อมสั้นแบบถังเบียร์ ซึ่งได้แก่ แมลงวันผลไม้ชนิดที่ทำให้เกิดปุ่มปมบนพืช และพวกที่ทำลาย flower-heads ของพืชพวก Compositae หนอนส่วนใหญ่มักมีรูปร่างแบบ มุสซิดิฟอร์ม (musidiform) รูปร่างเรียวยาวหัวแหลมท้ายป้าน ซึ่งทำลายพืชผักและผลไม้โดยทั่วไปซึ่งอยู่ในสกุลแบคโทรเซรา (Bactrocera)
แมลงวันผลไม้ในประเทศไทย พบทำลายผลไม้ที่มีเปลือกบางหรืออ่อนนุ่ม เช่น ฝรั่ง ชมพู่ มะม่วง พุทรา กระท้อน มะเฟือง น้อยหน่าฯลฯ พืชพวกไม้ผลชนิดต่างๆ มากกว่า 50 ชนิด ล้วนเป็นพืชอาศัยของแมลงวันผลไม้ทั้งสิ้น โดยเหตุที่แมลงวันผลไม้มีพืชอาหารหลายชนิด ดังนั้นแมลงวันจึงสามารถขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณประชากรจากพืชอาศัยชนิดต่างๆ ในแต่ละท้องถิ่นได้เกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อนซึ่งมีผลไม้ออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง จะเป็นช่วงที่แมลงวันผลไม้ระบาดรุนแรง เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์นั่นเอง เนื่องจากแมลงวันผลไม้สามารถขยายพันธุ์โดยอาศัยพืชต่างๆ ได้เกือบตลอดทั้งปี ทำให้มีแมลงวันผลไม้เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ดังนั้นเกษตรกรประสบปัญหาอย่างมากในการป้องกันกำจัด และจะทำให้การพ่นสารฆ่าแมลงของเกษตรกรไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร
แมลงวันผลไม้ทำลายผลผลิตเสียหายและทำให้เกิดการเน่าเสีย เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ และทำให้คุณภาพตกต่ำขายไม่ได้ราคา นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นปัญหาต่อการส่งออก ในประเทศที่มีกฎหมายกักกันพืชเข้มงวด เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ผลไม้ที่จะมีการนำเข้าประเทศต้องผ่านขบวนการกำจัดแมลงวันผลไม้ด้วยมาตรการ อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน เช่น อบไอน้ำร้อน รมยา เป็นต้น ดังนั้นความเสียหายจากแมลงวันผลไม้ จึงไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับผลไม้ก่อนเก็บเกี่ยวภายในแปลงเท่านั้น แต่มีผลต่อเนื่องมาจนถึงภายหลังการเก็บเกี่ยวแล้วอีกด้วย ความเสียหายที่เกิดจากแมลงวันผลไม้ต่อเศรษฐกิจของผลไม้ไทยในปีหนึ่งๆ มีมูลค่า ไม่ต่ำกว่าปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยคาดคะเนจากความเสียหายโดยตรงต่อผลผลิต ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในการป้องกันกำจัด และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหลังการเก็บเกี่ยวก่อนการส่งออก ดังนั้น แมลงวันผลไม้จึงจัดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกชนิดหนึ่ง
ชนิดของแมลงวันผลไม้ในประเทศไทย
แมลงวันผลไม้ที่มีความสำคัญของประเทศไทยที่มักจะพบเสมอๆ ได้แก่
1. แมลงวันทอง Bactrocera dorsalis (Hendel)
มีเขตการแพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย มีพืชอาศัยมากกว่า 50 ชนิดในเขตภาคกลาง คือ มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ ละมุด พุทรา น้อยหน่า ขนุน เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ กะท้อน สะตอ กล้วยน้ำว้า มะกอกฝรั่ง มะเฟือง มะปราง มะละกอ มะยง พริก ชำมะเลียง มะกอกน้ำ มะม่วงหิมพานต์ เชอรี่หวาน กระโดน สตาร์แอปเปิ้ล หว้า มะเดื่อหอม มะเดื่ออุทุมพร มะม่วงป่า มะมุด พิกุด ตะขบฝรั่ง กล้วยป่า นำใจไคร่ หูกวางเล็บเหยี่ยว มะตูม ฯลฯ
2. แมลงวันฝรั่ง Bactrocera correcta (Saunders)
มีเขตแพร่กระจายในเขตภาคเหนือ ภาค และภาคใต้ มีพืชอาศัยไม่น้อยกว่า 36 ชนิด ได้แก่ ฝรั่ง มะม่วง ชมพู่ ละมุด พุทรา น้อยหน่า ขนุน เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ กะท้อน วะตอ กล้วยน้ำว้า มะกอกฝรั่ง มะเฟือง มะปราง มะละกอ มะยม ชำมะเลียง มะกอกน้ำ มะม่วงหิมพานต์ เชอรี่หวาน กระโดน สตาร์แอปเปิ้ล หว้า มะเดื่อหอม พิกุล ตะขบฝรั่ง น้ำใจใคร่ หูกวาง หนามหัน ( งัวซัง) แจง มะแว้งเครือ
3. แมลงวันแตง Bactrocera curcubitae (Coquillet)
มีเขตแพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย มีพืชอาศัยมากกว่า 21 ชนิด ได้แก่ ชะมดต้นฟัก มะละกอ แตงโม ตำลึง แตงกวา ฟักทอง ตะโกนา กะดอม ขี้กาดง บวบเหลี่ยม บวบกลม มะเขือเทศ มะระขี้นก กะทกรก บวบงู ขี้กาแดง กระดึงช้าง ขี้กาดิน ถั่วฝักยาว พุทราจีน ฯลฯ
วงจรชีวิตของแมลงวันผลไม้
การเจริญเติบโตของแมลงวันผลไม้โดยทั่วๆ ไปแบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ ไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย
ไข่ มีสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนม ผิวเป็นมัน สะท้อนแสง รูปร่างคล้ายผลกล้วย มีขนาดค่อนข้างเล็ก ขนาดกว้างประมาณ 0.2 มิลลิเมตร ยาว 0.4 มิลลิเมตร ระยะไข่กินเวลา 1-3 วัน ปกติฟักภายใน 2 วันที่อุณหภูมิ 28-32 องศาเซลเซียว ระยะไข่อาศัยอยู่ในผลไม้ ระยะนี้การใช้สารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมอาจสามารถทำลายไข่ได้เพียงเล็กน้อยเท่า นั้น
หนอน ปกติมีสีขาว แต่อาจมีสีใกล้เคียงกับสีของพืชอาศัยได้ เช่น แมลงวันผลไม้ที่ทำลายอยู่ในผล มะม่วงอาจมีสีเหลืองอ่อนตามสีเนื้อมะม่วง หรือแมลงวันผลไม้ที่กินอยู่ในแตงโม อาจมีสีแดงเรื่อๆ ตามสีเนื้อแตงโมก็ได้ แต่เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว จะมีสีขาวทึบแสง ลักษณะตัวหนอนเมื่อโตเต็มที่จะมีรูปร่างกลมยาวรี หัวแหลม ท้ายป้าน ไม่มีขา ตัวหนอนเคลื่อนที่โดยการยืดหดลำตัวซึ่งเป็นปล้องๆ ส่วนหัวเป็นตะขอแข็งสีดำหนึ่งคู่ ตัวหนอนมีความสามารถพิเศษในการงอตัว และดีดกระเด็นไปได้ไกลประมาณ 30 เซนติเมตร ลักษณะพิเศษนี้จะเกิดเฉพาะหนอนที่ใกล้จะเจริญเต็มที่ (หนอนวัยที่ 3) แล้วเท่านั้น การกระโดดนี้เป็นการช่วยให้หนอนหาทำเลที่เหมาะสม เพื่อเข้าดักแด้ในดิน ที่อุณหภูมิปกติระยะหนอนประมาณ 5-9 วัน ระยะหนอนอาศัยอยู่ในผลไม้ เป็นระยะของแมลงระยะเดียวที่ทำลายผลผลิต ระยะนี้การใช้สารฆ่าแมลงแทบไม่สามารถทำลายตัวหนอนได้เลย เนื่องจากแมลงวัยผลไม้เมื่อฟักออกจากไข่เป็นตัวหนอนจะไชกินเนื้อผลไม้ลึกลง ไปในใจกลางผลเรื่อยๆ ตามระยะการเจริญเติบโต หนอนในวัย 2 และ 3 ก็จะอยู่ลึกลงไปในเนื้อผลไม้ ทำให้สารฆ่าแมลงไม่สามารถที่จะซึมลงไปในปริมาณที่มากพอที่จะทำลายตัวหนอนได้ ดังนั้นการพ่นสารฆ่าแมลงแบบปกติ ด้วยสารฆ่าแมลงประเภทดูดซึมหรือประเภทอื่นๆ จึงไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ หนอนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวกว้างประมาณ 2.0 มิลลิเมตร ยาว 10.0 มิลลิเมตร
ดักแด้ มีรูปร่างกลมรีคล้ายถังเบียร์ ลำตัวเป็นปล้องๆ ตามขวาง มีสีน้ำตาลอ่อนและสีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตัวเต็มวัย ระยะดักแด้เป็นระยะที่แมลงอยู่เฉยๆ ไม่เคลื่อนไหวใดๆ ดักแด้อาศัยอยู่ในดินลึกประมาณ 2-5 เซนติเมตร ระยะดักแด้ประมาณ 10-12 วัน ดักแด้มีขนาด 2 x 4 มิลลิเมตร
ตัวเต็มวัย เป็นแมลงวันที่มีสีน้ำตาลปนดำ บางชนิดก็มีสีน้ำตาลปนแดง แต่มักมีแถบสีเหลืองที่ส่วนอกของแมลง ปีกบางใสสะท้อนแสง เมื่อดูโดยภาพรวมจึงถูกเรียกว่าแมลงวันทอง ระยะตัวเต็มวัยไม่ทำลายพืชผล กินน้ำหวาน โปรตีน และวิตามิน ที่มีในสิ่งขับถ่ายของแมลงอื่น นก ตลอดจนน้ำยางจากแผลต้นไม้ น้ำหวานจากพืช และเชื้อจุลินทรีย์บนพืชที่มีอยู่ในธรรมชาติเป็นอาหาร ตัวเต็มวัยหลังออกจากดักแด้แล้ว ประมาณ 10 วันจึงจะเริ่มวางไข่ ในผลไม้ที่อาศัยอยู่ แมลงตัวเต็มวัยในระยะแรกจะต้องการอาหารที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบมากเพื่อ พัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์และวางไข่ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ จึงสามารถนำประเด็นซึ่งเป็นจุดอ่อนของแมลง มาศึกษาวิจัยผลิตเหยื่อพิษเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้อย่างได้ ผลดี แมลงวันผลไม้สามารถวางไข่ได้ทุกวันนานเกือบตลอดอายุขัย โดยสามารถวางไข่ได้ทุกวัน เฉลี่ยวันละประมาณ 50 ฟองตลอดอายุจะวางไข่ได้มากถึง 3,000 ฟอง ดังนั้นแมลงวันผลไม้จึงมีอัตราการขยายพันธุ์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับแมลงอื่นๆ บางชนิด แมลงวันผลไม้มีอายุเฉลี่ยประมาณ 1-3 เดือน กินอาหารจากพืชอาศัย แต่ไม่มีแหล่งแน่นอนสามารถบินหรือถูกลมพัดพาไปได้ไกลๆ แมลงชนิดนี้เป็นแมลงที่เคลื่อนไหวค่อนข้างช้า หาอาหารในเวลาเช้าชอบหลบตามร่มเงาในเวลาบ่ายหรือเวลาแดดร้อนจัด ผสมพันธุ์ในเวลาเย็นตอนพลบค่ำ วางไข่ในเวลากลางวันและวางไข่ได้ตลอดวัน ระยะตัวเต็มวัยเป็นระยะเดียวของแมลงที่เกษตรกรสามารถกำจัดแมลงนี้ได้ หากทำการพ่นสารฆ่าแมลงให้ถูกตัว หรือทำการพ่นเหยื่อพิษล่อแมลงวันผลไม้
วงจรชีวิตของแมลงวันผลไม้ จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 16-24 วัน หรือประมาณ 1 เดือน การกำจัดแมลงวันผลไม้อย่างน้อยต้องกำจัดให้ครบ 1 วงจรชีวิต จึงจะเห็นผลของวิธีการนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน เพราะว่ามีแมลงวันผลไม้ตัวเต็มวัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดักแด้ฟักเป็นตัวเต็มวัยออกจากดินอยู่ตลอดเวลา การป้องกันกำจัดจะเห็นผลชัดเจนหลังจากเราทำการป้องกันกำจัดไม่น้อยกว่า 3-4 สัปดาห์ จากการศึกษาวงจรชีวิตของแมลงวันผลไม้ ทำให้ทราบว่า แมลงวันผลไม้สามารถกำจัดได้เพียงระยะเดียว คือ ระยะตัวเต็มวัยที่บินได้เท่านั้น และยังทราบอีกด้วยว่า แมลงวันที่ออกจากดักแด้ใหม่ๆ ต้องการอาหารที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ดังนั้นจึงสามารถพัฒนาวิธีการใช้เหยื่อโปรตีนในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ ได้ก่อนที่จะผสมพันธุ์และวางไข่
วิธีการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้
การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ มีวิธีการต่างๆ ดังนี้
- รักษาแปลงปลูกให้สะอาด มีการตัดแต่งกิ่งตามสมควร ไม่ให้เกิดร่มเงามากเกินไป เพื่อให้แมลงและสัตว์ศัตรูธรรมชาติ สามารถมีส่วนช่วยในการทำลายแมลงวันผลไม้ เช่น มด แมงมุม และสัตว์เลี้อยคลานชนิดต่างๆ เป็นต้น หมั่นเก็บผลไม้ร่วงในแปลงปลูก และผลไม้ที่ถูกทำลายบนต้น นำไปเผาทำลายหรือ กลบ ฝัง เพื่อป้องกันการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลง
- ห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือถุงพลาสติก เพื่อป้องกันการทำลายจากแมลงวันผลไม้ตัวอย่างการห่อผลในพืชต่างๆ เช่น
ฝรั่ง : ห่อผลด้วยถุงพลาสติกชนิดมีหูหิ้วขนาดกว้าง 15.2 เซนติเมตร ยาว 35.6 เซนติเมตรและหุ้มด้วยกระดาษ อาจใช้กระดาษสมุดโทรศัพท์เป็นรูปกรวยเพื่อป้องกันแสงแดด ทำให้ผลผลิตมีผิวพรรณสวยงามและเจริญเติบโตเร็ว มุมุงพลาสติกทั้งสองข้างตัดมุมเพื่อเจาะรูเล็กๆ เพื่อระบายน้ำ การห่อผลให้เริ่มห่อฝรั่ง หลังจากฝรั่งติดผลมีอายุ 1 เดือน
ชมพู่ : ห่อผลด้วยถุงพลาสติกหูหิ้ว ขนาดกว้าง 15.2 เซนติเมตร ยาว 35.6 เซนติเมตร โดยทำการตัดแต่งผลชมพู่ให้มีจำนวนไม่เกิน 4-5 ผลต่อพวง โดยปลิดผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป แล้วห่อด้วยถุงพลาสติก มุมถุงพลาสติกทั้งสองข้างตัดเล็กน้อยเพื่อช่วยระบายน้ำและความชื้น การห่อให้เริ่มห่อผลเมื่อชมพู่อยู่ในระยะที่เรียกว่า หมวกเจ๊ก หรือเมื่อชมพู่ติดผลอายุประมาณ 1 เดือน
มะม่วง : ห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาลหรือ กระดาษเคลือบด้านในด้วยพลาสติกบางเช่น กระดาษห่อข้าวมันไก่ โดยใช้ขนาดถุง กว้าง 15.0 เซนติเมตร ยาว 30.0 เซนติเมตร โดยเริ่มห่อผลมะม่วงเมื่อมะม่วงติดผลอายุได้ประมาณ 60 วัน ในมะม่วงต่างพันธุ์กันอาจแตกต่างจากนี้เล็กน้อย
ขนุน : ห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาลก่อนผลห่าม ประมาณ 20 วัน หรือเมื่อติดผล 80 วัน
- พ่นด้วยสารฆ่าแมลง มาลาไทออน 57 %EC ในอัตรา 30-50 มล./น้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน/ครั้ง
หรือ คลอไพริฟอส 40 %EC ในอัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร
- พ่นด้วยเหยื่อพิษ ที่ประกอบด้วยยีสต์โปรตีนในอัตรา 200 มล. ผสมสารฆ่าแมลงมาลาไท-
ออน 57 %EC จำนวน 40 มล.ในน้ำ 5 ลิตร ทุก 7 วันครั้ง โดยเริ่มพ่นเหยื่อพิษก่อนแมลงระบาด 1 เดือน
การติดตามและตรวจสอบปริมาณแมลงวันผลไม้
ในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ ขั้นตอนที่สำคัญควรปฏิบัติเพื่อเตรียมตัวในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้คือ การติดตามตรวจสอบปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลงปลุก โดยการใช้กับดักสารล่อแมลง เมทธิลยูจีนอล (methyl eugenol) สำหรับแมลงวันผลไม้ชนิดแมลงวันมะม่วงและแมลงวันฝรั่ง และสารล่อแมลงชนิดคิวลัว (cue-lure) สำหรับแมลงวันผลไม้ชนิด แมลงวันแตง วิธีปฏิบัติ คือ ใช้สารล่อแมลงวันผลไม้ตามชนิดแมลงผสมสารฆ่าแมลง มาลาไทออน 83%EC ในอัตรา 1 : 1 โดยปริมาตร ชุบสำลีใช้คลิปหนีบกระดาษแขวนไว้ในกล่องดักแมลงวันผลไม้แบบสไตเนอร์ (Steiner?s traps) แขวนกับดักในแปลงปลูก จำนวน 8 กับดัก ในพื้นที่ 1 ไร่/แปลงปลูกขนาด 10-100 ไร่ เพื่อเก็บตัวอย่างแมลงวันผลไม้ตรวจนับ 7 วันครั้ง และกำหนดมาตรการปฏิบัติในการพ่นสารฆ่าแมลงหรือเหยื่อพิษ เมื่อจำนวนแมลงวันผลไม้โดยเฉลี่ยมากกว่า 1 ตัว/กับดัก/วัน
ปริมาณแมลงเฉลี่ย/กับดัก/วัน : มาตรการในทางปฏิบัติ
น้อยกว่า 1 ตัว ไม่มี
เท่ากับ 1 ตัว ควรระมัดระวัง
มากกว่า 1 ตัว แต่น้อยกว่า 3 ตัว พ่นสารฆ่าแมลงหรือเหยื่อพิษ 7 วันครั้ง
มากกว่า 5 ตัว พ่นสารฆ่าแมลงหรือเหยื่อพิษ 4 วันครั้ง
มากกว่า 10 ตัว พ่นสารฆ่าแมลงหรือเหยื่อพิษ 3 วันครั้ง
โดย : มนตรี จิรสุรัตน์ กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร