การใช้ไรตัวห้ำควบคุมไรสองจุดศัตรูสตรอเบอรี่
Biological Control of Two-Spotted Spider Mite on Strawberries
by Predatory Mite Amblyseius longispinosus (Evans)

การควบคุมประชากรไรศัตรูพืชโดยใช้ไรตัวห้ำ เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการเพาะปลูกพืชแผนใหม่ตามนโยบาย ลดการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของบริการศัตรูพืช (IPM) ความเป็นไปได้ในการควบคุมไรศัตรูพืชโดยใช้ศัตรูธรรมชาติ เริ่มต้นด้วยการอนุรักษ์ไรตัวห้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อรักษาสมดุลในธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ทำการผลิตขยายไรตัวห้ำชนิดที่มีประสิทธิภาพในการกินเหยื่อ แล้วนำไปปล่อย ช่วยในการควบคุมไรศัตรูพืชอีกทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้ระบาดและทำลายจนเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ

ข้อจำกัดของการใช้ไรตัวห้ำมีอยู่หลายประการ เช่น สภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้น ลักษณะของต้นพืช ที่สำคัญก็คือสารเคมีที่ใช้ต้องไม่เป็นอันตรายต่อไรตัวห้ำที่ปล่อยไปในตาม ธรรมชาติ

adult-longi_2 copy

ไรตัวห้ำกินไรศัตรูพืช

ไรตัวห้ำที่สำคัญในประเทศไทยคือ Amblyseius longispinosus (Evans) เป็นไรที่มีขนาดใกล้เคียงกันกับไรแมงมุมศัตรูพืชทั่วๆ ไป แต่ผนังลำตัวมันวาวกว่า มีสีส้มหรือสีแดงสด ตัวอ่อนมีสีขาว ใส ลักษณะเด่นของไรตัวห้ำก็คือทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย วิ่งว่องไวมาก ขาคู่หน้ายาวใช้ในการจับเหยื่อ เมื่อไรตัวห้ำอยู่ปะปนกับไรศัตรูพืชอื่นๆ จะสังเกตได้ง่ายคือ ลักษณะของลำตัวมันวาวและวิ่งไปมาอย่างรวดเร็ว

วงจรชีวิตของไรตัวห้ำจากไข่เป็นตัวเต็มวัยสั้นเพียง 3.8 วัน ไรตัวห้ำ 1 ตัว สามารถดุดกินไข่ไรศัตรูพืชได้มากถึงวันละ 80 ฟอง กินตัวอ่อนได้วันละ 12 13 ตัว และมีการเจริญเติบโตเพิ่มประชากรได้รวดเร็ว โดยวางไข่ได้วันละ 3 4 ฟอง ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 15 วัน

การใช้ไรตัวห้ำควบคุมไรสองจุดศัตรูสตรอเบอรี่

ศัตรูของสตรอเบอรี่ที่สำคัญชนิดหนึ่งคือ ไรสองจุด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tetranychus urticae Koch พบระบาดทั่วๆ ไปทุกแหล่งปลูกสตรอเบอรี่ การเจริญเติบโตของไรสองจุดจากไข่เป็นตัวเต็มวัยประมาณ 8 9 วัน เป็นไรที่เพิ่มจำนวนประชากรได้รวดเร็ว มีพืชอาศัยหลายชนิด ไรชนิดนี้ยังเป็นศัตรูของพืชเศรษฐกิจที่ปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศค่อนข้าง หนาวเย็นด้วย เช่น กุหลาบ คาร์เนชั่น เบญจมาศ เป็นต้น

ลักษณะการทำลายของไรสองจุด

ไรสองจุดทำลายสตรอเบอรี่ด้านใต้ใบ ทำให้ใบด้านบนมองเห็นเป็นจุดประสีเหลือง เมื่อการทำลายเพิ่มขึ้นจะสร้างใยคลุม ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เหี่ยวแห้ง ถ้าทำลายอย่างรุนแรง ต้นสตรอเบอรี่จะแคระแกร็น ผลผลิตลดลง การทำลายในต้นฤดูปลูกมีผลกระทบต่อผลผลิตตลอดทั้งฤดู

การระบาดของไรสองจุดรุนแรงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สตรอเบอรี่กำลังให้ผลผลิตสูงสุด มีการเก็บผลสดทุกวัน การหลีกเลี่ยงอันตรายจากพิษตกค้างของสารป้องกันกำจัดไร โดยเว้นระยะก่อนการเก็บเกี่ยวหลังพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดจึงทำได้ยาก และยังมีปัญหาไรสองจุดต้านทานสารกำจัดไร ดังนั้นการควบคุมไรสองจุดโดยใช้ตัวห้ำ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งใช้ได้ผล

อัตราการปล่อยไรตัวห้ำควบคุมไรสองจุด

ปล่อยไรตัวห้ำ 2 5 ตัวต่อต้น หรือประมาณ 5,300 13,300 ตัวต่อแปลงสตรอเบอรี่ในพื้นที่ 1 งาน เมื่อพบไรสองจุดเข้าทำลาย โดยปล่อยเป็นระยะๆ ห่างกันครั้งละประมาณ 2 สัปดาห์ ไรตัวห้ำสามารถควบคุมไรสองจุดได้หมดภายในเวลา 10 12 สัปดาห์

ควรปล่อยไรตัวห้ำตั้งแต่เริ่มพบไรสองจุดเข้าทำลาย (ตรวจพบ 1 2 ตัวต่อใบย่อย) แต่ในสภาพที่ไรสองจุดเพิ่มประชากรสูงเกินกว่าระดับเศรษฐกิจ (5 20 ตัวต่อใบย่อย) การปล่อยไรตัวห้ำในอัตราสูงประมาณ 30 50 ตัวต่อต้น จำนวน 3 4 ครั้งตลอดฤดูปลูก สามารถควบคุมการระบาดของไรสองจุดได้ โดยไม่ต้องใช้สารกำจัดไร

ในกรณีที่เพลี้ยไฟระบาดด้วยควรใช้สารอิมิดาคลอปริด (imidacloprid) เว้นระยะ 7 10 วัน หลังจากนั้นจึงปล่อยไรตัวห้ำต่อไป จนกระทั่งควบคุมไรสองจุดได้ ถ้ามีหนอนกระทู้ผักกัดกินใบอ่อนให้ใช้เชื้อบีที (Bt) พ่นได้พร้อมกับการปล่อยตัวห้ำ

การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ไรตัวห้ำ

ใช้ไรแดงหม่อน (T. truncatus Ehara) เป็นเหยื่อ ทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์บนถั่วพุ่ม หรือถั่วฝักยาว อายุ 2 สัปดาห์ ปล่อยไว้ 1 สัปดาห์ ให้มีไรแดงหม่อนในปริมาณมาก แล้วจึงปล่อยไรตัวห้ำลงบนต้นถั่ว ในอัตราไรตัวห้ำต่อเหยื่อ 1:20 ถึง 1:50 ให้ไรตัวห้ำขยายพันธุ์เพิ่มประชากรเป็นเวลา 2 สัปดาห์

ถ้าเริ่มเพาะเลี้ยงไรแดงหม่อน 1,000 ตัวบนถั่ว 180 ต้น แล้วปล่อยไรตัวห้ำในอัตราดังกล่าว สามารถผลิตตัวห้ำได้ประมาณ 28,000 36,000 ตัว หลังจากนั้นจึงเก็บใบถั่วที่มีไรตัวห้ำนำไปปล่อย โดยวางทาบใบถั่วลงบนต้นพืช เพื่อให้ไรตัวห้ำเคลื่อนย้ายไปยังต้นพืชและกินไรศัตรูพืชต่อไป

ขั้นตอนสำคัญคือ การดูแลต้นถั่วไม่ให้มีศัตรูอื่นๆ เข้ามารบกวนในขณะเพาะเลี้ยง เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ ซึ่งมีผลทำให้ปริมาณไรแดงหม่อนที่เป็นเหยื่อลดลง แก้ไขได้โดยการพ่นสารกำจัดแมลงในอัตราต่ำ เว้นระยะ 3 4 วัน จึงเริ่มขยายไรแดงหม่อนใหม่ต่อไป

โดย : ดร. มานิตา คงชื่นสิน กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร