หอยทากในสวนกล้วยไม้
สวนกล้วยไม้ส่วนใหญ่มีความชื้นสูง มักพบหอยทากบก (Land snail) เข้าทำลายตาและหน่อดอกหรือใบ แม้ว่าความเสียหายจะไม่มากนัก แต่ถ้าไม่มีการจัดการใดๆ ประชากรหอยจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ จนก่อให้เกิดความสูญเสียมากขึ้น นอกจากนี้หอยยังปล่อยเมือกไว้เป็นแนวตามทางที่เดินไป อาจเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อราเข้าซ้ำเติม ประการสำคัญคือการที่หอยปะปนไปกับกล้วยไม้ที่ส่งต่างประเทศ เป็นสาเหตุให้ถูกเผาทำลาย นอกเหนือจากการต้องสูญเสียเงินทองแล้ว ยังเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงประเทศชาติอย่างมาก
การป้องกัน
- นำต้นใหม่เข้าสวน ต้องแยกไว้ต่างหากเพราะอาจมีหอยและไข่หอย
- หมั่นตรวจในสวน โดยเฉพาะในฤดูฝนจะพบเห็นหอยทากได้ง่าย ถ้าหากเริ่มพบหอยตามพื้นดินแสดงว่าภายในปีต่อมาจะเริ่มไต่ขึ้นบนโต๊ะวาง กล้วยไม้
- เมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่ต้องระวัง ควรชุบเครื่องปลูกในสารฆ่าหอยหรืออบ หรือตากแห้งก่อนใช้งาน เพื่อกำจัดลูกหอยหรือไข่หอย
การกำจัด
– หอยทากชนิดตัวใหญ่ ได้แก่ หอยสาริกา ( Sarika spp. : Helicarionidae) หอยดักดาน (Cryptozona simensis : Helicarionidae) หรือ หอยทากยักษ์อาฟริกา (Achinita fulica : Achitinidae) ให้เก็บออกทุบทำลาย หรือใช้เหยื่อพิษสำเร็จรูปเมทัลดีไฮด์ (metaldehyde pellet) ซึ่งเป็นเม็ด วางโคนต้นภายหลังให้น้ำกล้วยไม้แล้ว ในวันที่ฝนไม่ตก เพื่อให้เหยื่อพิษมีประสิทธิภาพอยู่ได้นานหลายวัน
– หอยชนิดเล็ก ได้แก่ หอยทากซัคซิเนีย (Amber snail, Succinea spp. : Succineidae) หอยเจดีย์ใหญ่ (Prosopeas walkeri : Subulinidae) หอยเจดีย์เล็ก (Lamellaxis gracilis : Subulinidae) และหอยเลขหนึ่ง (Ovachlamys fulgens : Helicarionidae) ระบาดมาก การใช้เหยื่อแบบเม็ดหว่านทั่วทั้งสวน ให้หอยทากเดินมาพบและกินหรือสัมผัสอาจจะไม่ได้ผลดี จึงแนะนำให้ใช้สารฆ่าหอย (mulluscicide) ในรูปผง wettable powder (WP) นำมาละลายน้ำแล้วพ่นด้วยเครื่องพ่นชนิแรงดัน หรือเครื่องสูบโยกสะพายหลังที่หัวพ่นมีรูใหญ่และใช้แรงดันต่ำ เดินพ่นให้ช้ากว่าการพ่นสารกำจัดวัชพืช โดยเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้
- เมทัลดีไฮด์ , metaldehyde 80% WP ชื่อการค้า เดทมีล Deadmeal เป็นผงสีขาวผสมน้ำในอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
- นิโคลซาไมด์ , niclosamide (ชื่อการค้า ไบลุสไซด์ Bayluscide 70% WP) เป็นผงสีเหลืองผสมน้ำในอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
- เมทิโอคาร์บ , methiocarb (ชื่อการค้า เมซูโรล Mesurol 50% WP) เป็นผงสีขาวผสมน้ำในน้ำอัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
- กากเมล็ดชา , tea seed (ชื่อการค้า ซาโปเคียววัน saponin 10%) เป็นผงแช่น้ำ 1 คืน อัตรา 1 กก./น้ำ 8 ลิตร
ใช้สารฆ่าหอยพ่นให้ถูกตัวหอยมากที่สุด โดย
- พ่นในเวลาเช้าซึ่งยังมีความชื้นในอากาศเหลืออยู่ โดยพ่นน้ำเปล่าให้ทั่วตามพื้นตามเดิม ก่อนพ่นสารประมาณ 10 นาที เพื่อชักนำให้หอยทากออกจากที่หลบซ่อน เพราะขณะหอยทากเคลื่อนที่ส่วนกล้ามเนื้อที่ยื่นออกมาจะได้สัมผัสสารเต็มที่
- พ่นสารตามพื้นทางเดินระหว่างโต๊ะวางกล้วยไม้ เพื่อให้สารฆ่าหอยสัมผัสกับตัวหอยโดยตรง และหากละอองสารตกค้างอยู่บนมอสหรือตะไคร่น้ำตามพื้นดินก็สามารถทำให้หอยที่ เดินเข้ามาในบริเวณนั้นได้รับสารเพิ่มไปด้วย
- ถ้าพบหอยไต่ขึ้นอาศัยอยู่ในกาบมะพร้าวบนโต๊ะ ให้พ่นสารที่โคนต้นและที่กาบมะพร้าว โดยหลีกเลี่ยงส่วนดอกเพราะอาจเปื้อนคราบสาร หรือใช้สารฆ่าหอยแบบเม็ดเหยื่อพิษโรยบนเครื่องปลูกนั้นแทนการพ่น
โดย : ชมพูนุท จรรยาเพศ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร