ด้วยสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย จะจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การวินิจฉัยไรและแมงมุมทางการเกษตร และการป้องกันกำจัด” ให้แก่นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจ จำนวน 80 คน ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ระหว่างเวลา 08.30-17.00 น. (1 วัน) ณ ห้องประชุมมนตรี รุมาคม (501) ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กรุงเทพ ฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีความรู้ด้านไรศัตรูพืชและแมงมุม โดยเชิญนักกีฏวิทยาที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้มาเป็นผู้ถ่ายทอดให้ความรู้  จัดให้มีการฝึกปฏิบัติการวินิจฉัยไรศัตรูพืชและแมงมุมอย่างง่ายด้วยตนเอง และนำตัวอย่างไรศัตรูพืชและแมงมุมที่สำคัญมาให้ทำความรู้จัก ตามกำหนดการที่แนบมาด้วยแล้ว

สมาคมฯ จึงใคร่ขอเรียนเชิญท่านเข้ารับการฝึกอบรม ในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและแจ้งความจำนงสมัครเข้าฝึกอบรมได้ที่ นายสัจจะ ประสงค์ทรัพย์ โทรศัพท์มือถือ 062-625-3399 หรือ นางสาววทินี ตันเจริญ โทรศัพท์มือถือ 08-1835-3526 โทรสาร 0-2940-5825 หรือส่งใบสมัครได้ที่ e-mail: ezathai@gmail.com หรือสมัครผ่านออนไลน์ที่ http://www.ezathai.org/ ค่าลงทะเบียนคนละ 2,500 บาท ชำระเงินตามรายละเอียดในใบสมัครเข้าฝึกอบรม ภายในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563

1. เหตุผลและความจำเป็น

“ไร” ไม่ใช่แมลง แต่เป็นสัตว์พวกเดียวกับแมงมุม มี 8 ขา บางชนิดสร้างเส้นใยได้เหมือนแมงมุม ไรมีขนาดลำตัวเล็กมากจนเกือบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า พบอาศัยอยู่ทั่วไปทั้งในดิน น้ำ อาหาร พืช สัตว์ ของใช้และเครื่องนุ่งห่มในบ้านเรือน แม้กระทั่งบนร่างกายมนุษย์ ส่วนไรที่อาศัยอยู่บนพืชจะดูดทำลายส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ดอก ลำต้น ผล และราก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตพืช ในประเทศไทยพบมีไรศัตรูพืชหลายชนิดที่ทำลายพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ วิธีการป้องกันกำจัดไรศัตรูพืชแตกต่างกันตามชนิดของไร แนวทางที่ควรปฏิบัติ ได้แก่ 1) ทราบชนิด ชีววิทยา และรูปร่างลักษณะของไรศัตรูพืชที่สำคัญ 2) ทราบลักษณะการเข้าทำลายของไรศัตรูพืชแต่ละชนิด 3) ทราบวิธีการสำรวจจำนวน และการประเมินการทำลายของไรศัตรูพืช โดยเฉพาะชนิดที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า และ 4) ทราบวิธีการป้องกันกำจัดไรศัตรูพืชที่เหมาะสมในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ

สำหรับแมงมุม ซึ่งจัดว่าเป็นสัตว์ที่บ่งชี้สมดุลธรรมชาติในแง่ของการเป็นตัวห้ำในห่วงโซ่อาหารที่คอยควบคุมประชากรของแมลงและไรศัตรูพืช การวินิจฉัยชนิดของแมงมุมที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และวิธีการสำรวจที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญที่ควรทราบ

การศึกษาวิจัยด้านไรศัตรูพืชและแมงมุมในประเทศไทยมีอยู่ในวงจำกัด สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทยมีความประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านนี้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำการเกษตร จึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การวินิจฉัยไรและแมงมุมทางการเกษตร และการป้องกันกำจัด” โดยเชิญนักกีฏวิทยาที่เชี่ยวชาญในเรื่องไรศัตรูพืชและแมงมุมมาเป็นผู้ถ่ายทอดให้ความรู้  โดยจัดให้มีการฝึกปฏิบัติการวินิจฉัยไรศัตรูพืชและแมงมุมอย่างง่ายด้วยตนเอง และนำตัวอย่างไรศัตรูพืชและแมงมุมที่สำคัญมาให้ทำความรู้จัก การจัดการฝึกอบรมนี้ยังเป็นเวทีให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีโอกาสพบปะและรู้จักนักวิชาการทางด้านไรและแมงมุม เพื่อการประสานงานกันได้ต่อไปในอนาคต

2. วัตถุประสงค์

เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการมีความรู้ ดังนี้คือ :-

2.1 การวินิจฉัยไรและแมงมุมทางการเกษตร และฝึกปฏิบัติวิธีการจำแนกไรและแมงมุมอย่างง่าย

2.2 ลักษณะการเข้าทำลายของไรศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ

2.3 หลักการป้องกันและกำจัดไรศัตรูพืชในพืชเศรษฐกิจ และไรศัตรูเห็ด

3. รูปแบบการฝึกอบรม

          เป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ แบ่งเป็นภาคบรรยาย 4 ชั่วโมง 45 นาที และภาคปฏิบัติ 1 ชั่วโมง 30 นาที

4. กลุ่มเป้าหมาย และจำนวนผู้เข้าอบรม

กลุ่มเป้าหมาย           นักวิชาการ/พนักงานของภาคเอกชน และบุคคลที่สนใจ มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

จำนวนผู้เข้าอบรมฯ    80 คน

5. วัน เวลา สถานที่

เวลา                     วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 (1 วัน)

สถานที่                  ณ ห้องประชุมมนตรี รุมาคม (501) ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ฯ

กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

6. กำหนดการสมัคร และค่าลงทะเบียน

กำหนดเปิดรับสมัคร    วันที่ 22 ตุลาคม 2563

กำหนดปิดรับสมัคร     วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563

ค่าลงทะเบียน           คนละ 2,500 บาท

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับ

  • เอกสารประกอบการบรรยาย หลักสูตร “การวินิจฉัยไรและแมงมุมทางการเกษตร และการป้องกันกำจัด” พิมพ์ 4 สี 1 เล่ม
  • คู่มือตรวจไรศัตรูพืชเศรษฐกิจ พิมพ์ 4 สี 1 เล่ม
  • เลนส์ส่องไร กำลังขยาย 20+ เท่า 1 อัน
  • อาหารกลางวัน 1 มื้อ และเครื่องดื่ม/อาหารว่าง 2 มื้อ

7. ประกาศนียบัตร

ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการครบตามเวลาที่กำหนด จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการผ่านฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การวินิจฉัยไรและแมงมุมทางการเกษตร และการป้องกันกำจัด” จากสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

8. ผู้รับผิดชอบการจัดฝึกอบรม และการสมัคร

ผู้รับผิดชอบ     สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

การสมัคร        แจ้งความจำนงเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมและติดต่อสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่

– นายสัจจะ ประสงค์ทรัพย์ โทรศัพท์มือถือ 062-625-3399   e-mail: ezathai@gmail.com

– นางสาววทินี ตันเจริญ โทรศัพท์มือถือ 081-835-3526  e-mail: vatinee.tancharoen@basf.com