โปรโตซัว Sarcocystis singaporensis สารชีวินทรีย์กำจัดหนูชนิดใหม่

protosua1 protosua2

หนูเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ เป็นศัตรูในแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิดและในโรงเก็บผลผลิตทางการเกษตร ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกัดทำลาย รวมทั้งการปนเปื้อนจากของเสียของหนู คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นศัตรูของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และชุมชนต่างๆ ทั้งกัดแทะสัตว์เลี้ยง ขโมยกินอาหารสัตว์และอาหารของมนุษย์ ตลอดจนกัดทำลายสิ่งของต่างๆ ในบ้านเรือนและในอาคารสำนักงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนูยังเป็นแหล่งรังโรคและพาหะนำโรคหลายชนิดที่ถ่ายทอดสู่มนุษย์และสัตว์ เลี้ยง เช่น กาฬโรค โรคไข้ฉี่หนู โรคสครับไทฟัส เป็นต้น

การควบคุมหนูมีหลายวิธี แต่ที่นิยมมากคือ การใช้สารเคมีกำจัดหนู ซึ่งมีความเป็นพิษสูงต่อมนุษย์และสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะสัตว์ที่หนูล่าเป็นอาหาร การใช้ปรสิตหรือเชื้อโรค เป็นวิธีการปราบหนูโดยชีววิธีอีกวิธีหนึ่ง ที่มีผลต่อการขยายพันธุ์ของหนู หรือทำให้หนูป่วยและตายได้ ซึ่งปรสิตโปรโตซัว Sarcocystis singaporensis ที่พบในหนูตามธรรมชาติ เป็นจุลินทรีย์ชนิดใหม่ ที่ได้มีการวิจัยแล้วว่า มีศักยภาพสูงในการกำจัดหนู

วงจรชีวิต การแพร่กระจาย และการผลิต

Sarcocystis singaporensis เป็นปรสิตโปรโตซัวที่พบเฉพาะในหนูและงูเหลือม มีการขยายพันธุ์แบบไม่มีเพศบริเวณเซลล์บุผิวภายในหลอดเลือดของหนู และสุดท้ายสร้างเป็นซซีสต์ตามกล้ามเนื้อลำตัว (sartocystis) เมื่องูเหลือมกินหนูติดเชื้อ โปรโตซัวจะขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศบริเวณผนังเซลล์ของลำไส้ และผลิตสปอร์โรซีสต์ (sporocysts) ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการเจริญเติบโต และถูกขับถ่ายปะปนออกมากับมูลงู โปรโตซัวชนิดนี้พบระบาดแพร่หลายในหนูและงูเหลือมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ และปริมาณเชื้อโปรโตซัวที่พบในธรรมชาติมีน้อย จึงไม่เป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของมัน

ระยะสปอร์โรซีสต์เท่านั้นที่ทำให้หนูป่วยและตายได้ จึง มีการนำโปรโตซัวระยะนี้ในปริมาณสูงมาใช้กำจัดหนู การผลิตสปอร์โรซีสต์ของปรสิตโปรโตซัวชนิดนี้ให้ได้จำนวนมากนั้น ต้องมีการเลี้ยงงูเหลือมและหนูติดเชื้อภายในโรงเรือน โดยพบว่างูเหลือมขนาดลำตัวยาวประมาณ 2.5 เมตร สามารถผลิตสปอร์โรซีสต์ได้ไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านซีสต์ ซึ่งใช้กำจัดหนูได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัว หรือใช้ปราบหนูในนาข้าวได้ประมาณ 300 ไร่

สาเหตุการตายของหนู

ภายหลังหนูได้รับเชื้อโปรโตซัวระยะสปอร์โรซีสต์แล้ว 10 15 วัน จึงแสดงอาการป่วยและตายในที่สุด ด้วยสาเหตุจากอาการน้ำท่วมปอด ซึ่งทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว หรืออาจทำให้ไตวายได้

การผลิตเหยื่อโปรโตซัวสำเร็จรูป

เหยื่อโปรโตซัว เป็นเหยื่อแบบนุ่ม ขนาด 1 กรัม และมีเชื้อโปรโตซัวบรรจุอยู่ตรงกลางจำนวน 200,000 สปอร์โรซีสต์ต่อก้อน เหยื่อโปรโตซัวสำเร็จรูปจะถูกนำไปวางในรูหนูหรือทางเดินของหนู หรือบริเวณที่พบร่องรอยของหนู ภายในโรงเรือนควรวางในภาชนะสำหรับใส่เหยื่อ เพื่อให้หนูรู้สึกปลอดภัยขณะที่กินเหยื่อโปรโตซัว

เหยื่อโปรโตซัวสำเร็จรูปใช้สำหรับปราบหนูในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว สวนปาล์มน้ำมัน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ อาคารบ้านเรือน และสถานที่อื่นๆ ที่มีปัญหาเรื่องหนู

วิธีการใช้

  • ในสภาพไร่นาและสวน วางเหยื่อโปรโตซัวสำเร็จรูป 20 24 ก้อนต่อไร่
  • ในสภาพโรงเรือน ใช้ภาชนะสำหรับใส่เหยื่อ 1 อันต่อพื้นที่ 25 27 ตารางเมตร แล้วใส่เหยื่อโปรโตซัวสำเร็จรูป 2 3 ก้อนต่อภาชนะ

ข้อดีของเหยื่อโปรโตซัว S. singaporensis

  • มีความเฉพาะเจาะจงสูงต่อหนูพุก (Bandicota sp.) และหนูท้องขาว (Rattus sp.)
  • มีความปลอดภัยต่อสัตว์ที่กินหนูเป็นอาหาร เช่น นกแสก เหยี่ยว งู พังพอน แมวป่า เป็นต้น
  • มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไก่ เป็นต้น
  • เหยื่อโปรโตซัวสำเร็จรูป 1 ก้อน สามารถฆ่าหนูได้ 1 ตัว
  • หนูไม่เกิดการเข็ดขยาดต่อเหยื่อชนิดนี้ เนื่องจากการตายจะเกิดภายหลังหนูได้รับเชื้อแล้ว 10 วัน
  • ไม่ทำให้เกิดพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม

โดย : ยุวลักษณ์ ขอประเสริฐ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร