มดและพืช : เพื่อนผู้มีประโยชน์
เมื่อเอ่ยถึงมด ความนึกคิดที่เกิดขึ้นทันที ก็คือสัตว์ตัวเล็กๆ ที่ก่อความเดือดร้อนและทำความรำคาญให้กับมนุษย์ ด้วยการเข้ามาร่วมอาศัยในเคหะสถาน และบริโภคหรือทำลายอาหารและสิ่งต่างๆ ที่เก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ยังนำเพลี้ยชนิดต่างๆ เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ซึ่งเป็นศัตรูพืชและร้ายแรง ยิ่งกว่านั้นเพลี้ยชนิดต่างๆ ที่มดนำมานั้น ยังเป็นพาหะนำโรคหลายชนิดมาสู่พืช ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปถึงความไม่มีประโยชน์ของมด
วิวัฒนาการของมดเป็นเวลาล้านปีล่วงมานั้น มดได้พัฒนาความสัมพันธ์และเอื้อประโยชน์ต่อพืชหลายชนิดในหลายประการ แม้โดยทั่วไปมักจะพบว่า มดได้รับผลประโยชน์จากพืชโดยใช้ส่วนต่างๆ ของพืชทั้งที่ยังสดหรือแห้ง เช่น ส่วนต่างๆ ของพืช หรือโพรงในต้นหรือกิ่งที่มีเศษดินและฝุ่นสะสมอยู่เป็นที่ทำรัง หรือแม้ใต้พื้นดินมดจะใช้รากพืชที่แห้งตายเป็นช่องทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มดได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว โดยไม่ทำประโยชน์หรือโทษให้กับพืชนั้นๆ จากการสำรวจในบริเวณที่ราบลุ่มเปรู-อเมซอน ( Peru s Amazon) ปรากฏว่ามีมด 72 ชนิด อาศัยอยู่กับต้นไม้เพียงต้นเดียว
ความสัมพันธ์ระหว่างมดกับพืช โดยทั้งสองฝ่ายเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับนั้น พืชที่มีความสัมพันธ์กับมดเรียกว่า พืชมด (ant plant) ซึ่งมีตัวอย่างของการพัฒนาร่วมกันระหว่างมดและพืชในด้านอาหาร ในพื้นที่อาหารของทั้งสองฝ่ายขาดแคลนอย่างมาก
การเอื้อประโยชน์ระหว่างมดและพืชนั้น มดจะหาและนำธาตุอาหารให้ต้นพืช ให้การป้องกันและทำความสะอาด พืชจะจัดสรรอาหารและที่อยู่อาศัยให้มด การเอื้อประโยชน์ของมดบางชนิด จะทำหน้าที่คล้ายยามที่จะขับไล่หรือฆ่าผู้บุกรุก เช่น ด้วงหรือหนอนผีเสื้อที่จะมาทำลายส่วนต่างๆ ของพืช มดบางชนิดจะเป็นผู้บริการธาตุอาหารที่พืชต้องการ ด้วยเศษซากอาหารที่นำมาบริโภคในรังเพื่อเป็นการตอบแทน พืชจะวิวัฒนาการให้มีโครงสร้างพิเศษ เพื่อเป็นที่พักอาศัยหรือแหล่งอาหารที่มดจะใช้บริโภค อาทิเช่น วิวัฒนาการใบให้มีรูกลวง หรือเมล็ดซึ่งมีส่วนที่มดจะใช้เป็นอาหารหุ้มอยู่ภายนอก หรือติดอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเมล็ด มักจะพบเสมอว่าทั้งมดและพืชจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันโดยไม่สามารถจะ อยู่อย่างโดดเดี่ยว
ดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Pitcher plant) ซึ่งมีลักษณะเป็นกระเปาะและมีน้ำย่อยบรรจุในกระเปาะ เพื่อใช้ดักแมลงและสัตว์เล็กๆ ที่ตกลงไปเป็นอาหาร ส่วนก้านของกระเปาะหรือระยางค์ (tendril) Charles Clarke และ Roger Kitching จาก Australia s Griffith University พบว่ามีมดตระกูล Calobopsis อาศัยอยู่ภายใน จึงทำให้ทั้งสองเข้าใจว่ามดเป็นสัตว์ที่สามารถว่ายน้ำ (swimmers) หรืออาศัยอยู่ในน้ำ (aquatic ants) จากกรณีต่อไปนี้
มด Calobopsis ซึ่งอาศัยอยู่ในระยางค์ของดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes bicalcarata) จะเสี่ยงภัยโดยดำลงน้ำย่อยของดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง และว่ายไปทั่วดอกเพื่อทำความสะอาด โดยรวบรวมเหยื่อที่ถูกย่อยจากน้ำย่อยในดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง ซึ่งจำเป็นต้องใช้มดงานจำนวนมากเพื่อลากดึงเหยื่อ ซึ่งอาจมีน้ำหนักและขนาดใหญ่ เช่น จิ้งหรีด ให้มาติดกับผนังด้านในของดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง และใช้เป็นอาหารของมด
ปรากฏการณ์เช่นนี้ เป็นการช่วยทำประโยชน์ให้กับดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง เพราะซากของเหยื่อขนาดใหญ่ดังกล่าวถูกทิ้งทับถมไว้ในดอกและเริ่มเน่า จะทำให้น้ำย่อยที่อยู่ในดอกนั้นเสื่อมสภาพไม่สามารถย่อยอาหารจากเหยื่อได้ อีก แม้มด Calobopsis จะช่วยเคลื่อนย้ายซากแมลงที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ แต่ยังไม่มีใครทราบว่า มดจะไต่ผนังดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิงออกมาภายนอกได้หรือไม่
บนเกาะบอร์เนียว มีภูเขาหินปูนซึ่งขาดแคลนธาตุอาหารสำหรับพืช แต่มดในตระกูล Philidris ซึ่งทำหน้าที่เสมือนระบบรากเคลื่อนที่ของพืชโดยนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการ เจริญเติบโตมาให้ต้นเฟริ์น (Dan Janyen) ส่วนเฟริ์นจะผลิตสปอร์สีส้มเพื่อให้เป็นอาหารของมด โดยมดจะอาศัยอยู่_ในร่องก้านใบของเฟริ์น ร่องก้านใบนี้จะเป็นทางระบายเศษอาหารจากมด ซึ่งเป็นซากอินทรียวัตถุให้กับเฟริ์น นอกจากเฟริ์นแล้ว ยังมีพืชชั้นต่ำตระกูล Dischidia ขึ้นปะปนอยู่กับเฟริ์นและมีความสัมพันธ์กับมด Philidris โดยเมื่อผ่าใบของ Dischidia จะพบรังของมด Philidris ซึ่งมีตัวอ่อนและไข่อยู่ตามบริเวณรากอ่อนสีขาวของ Dischidia อยู่ในตำแหน่งที่ประหลาด คืออยู่ภายในใบ ราก จึงดูดซึมอาหารและแร่ธาตุจากซากแมลงที่มีมด Philidris นำมาเป็นอาหาร นอกจากเฟริ์นและ Dischidia ยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งคือ Hydnophytum ซึ่งเจริญเติบโตโดยเกาะติดกับต้นไม้ และมด Philidris จะใช้ Hydnophytum ทำรัง และในทำนองเดียวกัน Hydnophytum จะได้รับแร่ธาตุอาหารจากมด
ความสัมพันธ์ของมดและพืชนี้ ยังมีการศึกษาอยู่ใน French Guiana ว่าพืช Tillandsia bulbosa นั้นจะต้องได้รับธาตุอาหารจากมดที่มาอาศัยอยู่ในกาบใบหรือไม่
มดที่ทำหน้าที่ป้องกันหรือเป็นยามกับพืชนั้น มักจะดุร้าย ในสิงคโปร์บนต้นปาล์มหวาย (rattan palm) จะมีมดอยู่มากมายเพื่อทำหน้าที่ป้องกัน แม้ต้นปาล์มจะมีหนามที่ยาวแหลมป้องกันตัวเองแล้วก็ตาม และในอเมริการใต้จะมีมดที่ดุร้ายชนิดหนึ่งคือ Pachycoudyla goeldii จะเข้าทำร้ายสิ่งที่ผ่านเข้ามาบริเวณรังเพื่อป้องกันพืชที่มดใช้ทำรัง และส่วนที่สำรองอาหาร (garden) ซึ่งมดสร้างไว้อย่างบอบบางนั้นไม่ถุกฝนชะพังด้วย
มด P. goeldii นอกจากจะขยันและปกป้องภัยให้กับพืชอย่างซื่อสัตย์แล้ว ยังสร้างรังและส่วนที่สำรวจอาหารทั่วทั้งต้นที่อาศัยอยู่ ใน French Guiana นักวิจัย (Bruno corbara) ศึกษาเกี่ยวกับอาหารของมดชนิดนี้ และพบว่ามดจะคาบเมล็ด authurium กลับเข้ามาในรัง และกินส่วนที่อยู่ปลายด้านหนึ่งของเมล็ดเป็นอาหารและนำเมล็ดไปทิ้งไว้ในส่วน ที่สำรองอาหาร เพื่อให้เมล็ดงอกและใช้เป็นอาหารต่อไป
การศึกษาการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตโดยต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วม กันในลักษณะของมดและพืชดังกล่าวแล้ว ถ้าหากสิ่งมีชีวิตหนึ่งถูกทำลายหรือสูญพันธุ์ไป อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดที่อยู่ร่วมกัน ดังนั้นความที่เข้าใจว่ามดเป็นแมลงที่ก่อความเดือดร้อน ความรำคาญให้มนุษย์จึงจำเป็นต้องหาทางกำจัดมดให้หมดไป วิธีการนี้จะเป็นเหตุให้สมดุลธรรมชาติถูกทำลายไปด้วย มนุษย์เราจึงควรพิจารณาให้ดีเสียก่อนว่า สัตว์หรือแมลงที่คิดว่าไม่มีประโยชน์สำหรับมนุษย์ก็ตาม อย่างน้อยอาจมีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตอื่น การป้องกันกำจัดควรหาวิธีที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงผลกระทบที่มีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่เป้าหมาย เพื่ออนุรักษ์ให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่ให้สมดุลธรรมชาติสูญเสียไป
ที่มา : ไพศาล ศุภางคเสน วารสารกีฏและสัตววิทยา