tong

ผีเสื้อถุงทอง เป็นผีเสื้อในวงศ์ Papilionidae มีปีกขนาดใหญ่ เวลาบินดูคล้ายนก แต่เชื่องช้า ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Golden birdwings ผีเสื้อถุงทองมีลำตัวค่อนข้างใหญ่และหนา ปีกสีดำปนเหลือง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ผีเสื้อถุงทอง ผีเสื้อกลุ่มนี้ในโลกมีเพียง 3 สกุล คือ สกุล Trogonoptera พบในมาเลเซีย สกุล Ornitoptera พบมากในบอร์เนียวและออสเตรเลีย และสกุล Triodes  ซึ่งเป็นสกุลที่พบมากในประเทศไทย ชนิดที่พบ ได้แก่ ผีเสื้อถุงทองป่าสูง; Troides helena Linnaeus ผีเสื้อถุงทองปักษ์ใต้; Troides amphrysus Cramer และผีเสื้อถุงทองธรรมดา; Troidesaeacus Felder ซึ่งเป็นชนิดที่พบเห็นได้ง่าย

เขตแพร่กระจายและลักษณะสำคัญ

ผีเสื้อถุงทองธรรมดานี้พบว่ามีเขตแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเอเชีย ตั้งแต่เนปาล จีน ไทย จนถึงมาเลเซีย มักอาศัยอยู่ตามป่าหรือชนบท แต่ก็อาจจะพบได้บ้างในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตามแหล่งที่มีต้นกระเช้าสีดาซึ่งเป็นพืชอาหารที่สำคัญของผีเสื้อสกุลนี้ ลักษณะตัวเต็มวัย ผีเสื้อเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ มีความกว้างที่วัดจากปลายปีกด้านหนึ่งถึงปลายปีกอีกด้านหนึ่ง 12 14 ซม. ส่วนเพศผู้มีความกว้าง 10 13 ซม. หัว ปีกสีดำ บริเวณคอมีสีแดง อกสีดำ มีขนสีแดงอยู่ใต้โคนปีก ปีกคู่หน้าสีดำมีแถบสีขาวบนเส้นปีก ปีกคู่หลังสีเหลืองและมีจุดสีดำเรียงกัน 2 ชั้นระหว่างช่องของเส้นปีกตามแนวขอบด้านล่าง ส่วนท้องสีเหลืองและมีแต้มสีดำบริเวณด้านบนของท้อง

วงจรชีวิต

แม่ผีเสื้อจะวางไข่ฟองเดี่ยวๆ ทั้งบนใบ และใต้ใบ รวมทั้งยอดอ่อน หรือกิ่ง ไข่มีลักษณะทรงกลม สีเหลืองอมส้ม ระยะไข่ 7 10 วัน จึงฟักเป็นตัวหนอน วัยแรกมีสีน้ำตาลอ่อนสลับลายสีดำ มีแถบสีน้ำตาลอ่อนสลับลายสีดำ มีแถบสีน้ำตาลอ่อนพาดทแยงด้านข้างของปล้องท้อง ระยะนี้ใช้เวลา 3 วัน จึงลอกคราบเข้าสู่หนอนวัย 2 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งใช้เวลาในแต่ละวัย 2 3 วัน หนอนวัย 4 จะมีขนาดใหญ่ขึ้น หนอนวัยนี้ใช้เวลา 4 5 วัน จึงเข้าสู่หนอนวัยที่ 5 ระยะนี้หนอนจะกินจุ โตเร็ว ระยะใช้เวลา 4 5 วัน จากนั้นจะไม่กินอาหาร เพื่อเตรียมตัวเข้าดักแด้ หนอนจะคลานเข้าที่ร่มตามกิ่งไม้หรือลำต้น ลำตัวเริ่มหดสั้น และชักใยรอบกิ่งไม้เพื่อยึดเกาะแขวนตัวด้วยเส้นใยไหมสีดำที่หนอนสร้างขึ้น ในลักษณะหัวตั้งทำมุมกับกิ่งไม้ โดยมีเส้นไหมพันโอบรั้งส่วนลำตัวเพื่อโยงไปแตะกับกิ่งไม้ และมีอวัยวะที่เรียกว่า ครีมาสเตอร์ (Cremaster) บริเวณปลายส่วนท้องช่วยยึดเกาะกับกิ่งไม้อีกจุดหนึ่ง ระยะนี้ใช้เวลา 1 วัน จึงเป็นดักแด้ที่สมบูรณ์ ดักแด้ลักษณะนี้เรียกว่า ไครซาลิส (Chrysalis) ดักแด้มีสีเขียวอ่อน ระยะดักแด้ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ จึงออกมาเป็นตัวเต็มวัย หลังจากนั้น 14 15 วัน จึงวางไข่ในพืชอาหาร

พืชอาหาร

อาหารของตัวหนอนเป็นพืชในวงศ์ Aristolochiaceae สกุลที่พบในประเทศไทย ได้แก่ กระเช้าผีมด; Aristolochia tagalaCham. และกระเช้าสีดา; Aristolochia pothieri Pierre ex Lecomte จากการสำรวจพบว่าผีเสื้อจะวางไข่มากในช่วงฤดูฝน เพื่อที่ตัวหนอนจะได้มีอาหารกินอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากพืชอาหารดังกล่าวเจริญเติบโตเต็มที่

สถานการณ์ของผีเสื้อถุงทองในปัจจุบัน

ในธรรมชาติ แม้ว่าผีเสื้อถุงทองสามารถเอาตัวรอดได้ดีจากผู้ล่าที่เป็นนกหรือสัตว์ด้วยกัน เนื่องจากในระยะตัวหนอนสามารถปล่อยกลิ่นเหม็นเพื่อไล่ศัตรู และตัวของหนอนเองยังมีพิษกับนกหรือสัตว์อื่นๆ ที่จะมาจับกินเป็นอาหาร แต่ผีเสื้อถุงทองไม่สามารถรอดพ้นจากการคุกคามของมนุษย์ ที่มีพฤติกรรมในการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ต้นกระเช้าสีดาซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญอย่างยิ่งของตัวหนอนถูกทำลายจนหมดสิ้น และที่สำคัญความสวยงามของผีเสื้อถุงทองตัวเต็มวัย เป็นสิ่งดึงดูดให้มนุษย์อยากจับหรือเก็บไว้ในครอบครอง และหลายคนมีความพยายามล่าหรือจับผีเสื้อถุงทอง เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นการค้า จึงทำให้สถานการณ์ในปัจจุบันของผีเสื้อถุงทองอยู่ในภาวะอันตรายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก

ดังนั้นเพื่อป้องกันการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ ผีเสื้อถุงทองจึงถูกกำหนดให้เป็นแมลงอนุรักษ์ อยู่ในบัญชีรายชื่อในอนุสัญญา CITES (Convention on International Trade in Endangered Species of Wide Fauna and Flora) ซึ่งเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า อนุสัญญาไซเตส มีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าทั่วโลกมิให้ถูกทำลายจนสูญพันธุ์ หรือถูกคุกคามจนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์จากการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) โดยใช้วิธีควบคุมการนำเข้า- ส่งออกสินค้าสัตว์ป่าและพืชป่าให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด อนุสัญญาไซเตส ปัจจุบันมีภาคีสมาชิก (Parties) แล้ว 154 ประเทศ จึงนับเป็นอนุสัญญาเพียงฉบับเดียวที่ประสานประโยชน์ระหว่างการอนุรักษ์กับการค้า ทำให้สามารถปกป้องและอนุรักษ์ประชากรผีเสื้อถุงทองให้คงอยู่ธรรมชาติของไทยสืบไป

โดย : ศิริณี พูนไชยศรี สมชัย สุวงศ์ศักดิ์ศรี กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช