โครงการเพื่อเยาวชนและสังคม
รู้รักษ์ รู้ค่า แมลงพาธรรมชาติสมดุล
จัดโดยสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย
วันพุธที่ 2 สิงหาคม 2560
ณ กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสาตร์ บางเขน กรุงเทพฯ
หลักการและเหตุผล
สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย มีนโยบายจัดกิจกรรมโครงการเพื่อเยาวชนและสังคมมาอย่างต่อเมื่องเป็นประจำทุกปี โครงการนี้มุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้เปิดโลกทัศน์และเสริมสร้างประสบการณ์ตรง โดยการให้เยาวชนได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรม รู้เห็นด้วยตาและมือปฏิบัติ ในปี 2560 นี้ ทางสมาคมฯ จึงได้จัดทัศนศึกษาให้การเรียนรู้เรื่องโลกของแมลง วงจรชีวิต ชีววิทยา และความลี้ลับทางนิเวศวิทยาเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ให้อยู่รอดในธรรมชาติ เรียนรู้ชนิดแมลงทั้งที่เป็นคุณและโทษต่อมนุษย์ ความสัมพันธ์ของแมลงและพืช วิธีการที่แมลงจะนำพาให้เกิดความสมดุลธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมให้การเรียนรู้เรื่องของมด สัตว์สังคมที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ การเรียนรู้เกี่ยวกับป่าและทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่าที่ควรอนุรักษ์ และยังมีกิจกรรมศีกษาเรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ และชนิดพรรณไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ ช่วยให้เยาวชนเกิดการซึมซับ รู้รักษ์ รู้ค่า รักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการสร้างสรรให้เยาวชน ซึ่งเป็นกำลังของชาติในอนาคต สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การเกื้อกูล ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนสืบทอดแนวคิดไปสู่ครอบครัวและชุมชนต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกของแมลง ทั้งที่เป็นศัตรูพืชและที่เป็นมิตรกับเกษตรกร มีความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรในธรรมชาติ รวมทั้งเรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่
สถานที่
1. พิพิธภัณฑ์แมลง ตึกจักรทอง กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ
2. พิพิธภัณฑ์มด และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงรัตนโกสินทร์ คณะวนศาตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3. สวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา กรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ
กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนประถมปีที่ 5 และ 6 จำนวน 90 คน จากโรงเรียนวัดบางช้างใต้ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
วิธีดำเนินการ
1. กิจกรรมการเรียนรู้โลกของแมลงโดยการฟังการบรรยาย ดูตัวอย่างแมลงจริงทั้งที่เป็นคุณและโทษต่อมนุษย์ ชมวีดีทัศน์เพื่อเข้าใจชีวิตของแมลงในธรรมชาติ บันทึกความรู้ที่ได้ในสมุดงาน
2. กิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับป่า ทรัพยากรธรรมชาติ พืชพรรณและสัตว์ป่าที่ควรอนุรักษ์ บันทึกความรู้ที่ได้ในสมุดงาน
3. กิจกรรมศีกษาเรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ชมและสัมผัสสภาพการเพาะปลูกพืช และศึกษาชนิดพรรณไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ที่ควรอนุรักษ์ บันทึกความรู้ที่ได้ในสมุดงาน
ระยะเวลาดำเนินการ
วันที่ 2 สิงหาคม 2560 (1 วัน)
ผู้รับผิดชอบ
สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
เยาวชนได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับแมลงอย่างถูกต้อง ความสัมพันธ์ของแมลงกับพืช แมลงกับมนุษย์ ชนิดของแมลงที่มีประโยชน์และมีโทษ สมดุลธรรมชาติที่เกิดจากแมลง การเรียนรู้เกี่ยวกับป่าและทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่างๆ ชนิดพืชพรรณและสัตว์ป่าที่ควรอนุรักษ์ นอกจากนั้นกิจกรรมนี้จะทำให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตพืชตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเยาวชนต่อไป