ระเบียบสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

ระเบียบข้อบังคับ สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย 

หมวด ๑

ความทั่วไป

ข้อ ๑.  ข้อบังคับนี้เรียกว่าข้อบังคับสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๕๕๘

ข้อ ๒.  ให้ยกเลิกข้อบังคับสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย  ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๗  และให้ใช้ข้อบังคับต่อไปนี้แทน

ข้อ ๓.  ในข้อบังคับนี้

สมาคม                หมายถึงสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

นายกสมาคม         หมายถึงนายกสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

คณะกรรมการ       หมายถึงคณะกรรมการสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

กรรมการ             หมายถึงกรรมการสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

อุปนายก              หมายถึงอุปนายกสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

เลขานุการ            หมายถึง เลขานุการสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

สมาชิก                หมายถึงสมาชิกสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

ข้อบังคับ              หมายถึงข้อบังคับสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทยพุทธศักราช  ๒๕๕๘

ข้อ ๔.  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมประจำกรุงเทพมหานคร ได้จดทะเบียนแล้ว

ข้อ ๕.  ให้นายกสมาคมรักษาการตามข้อบังคับนี้

หมวด ๒

ชื่อ เครื่องหมายสมาคม และสถานที่ตั้ง

ข้อ ๖.   สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย” ใช้อักษรย่อว่า ก.ส.ท. เป็นภาษาอังกฤษ “Entomology and Zoology Association of Thailand” ใช้อักษรย่อว่า EZAT (อี – แซท)

ezatlogo

ข้อ ๗.   เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็น รูปวงกลม ภายในวงกลมมีอักษร EZAT 1982 อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ซึ่งแบ่งวงกลมออกเป็นสี่ส่วน มีรูปภาพของ มวน ยุง หนู และไร ด้านบนของวงกลมมีข้อความภาษาอังกฤษว่า ENTOMOLOGY AND ZOOLOGY ASSOCIATION OF THAILAND ด้านล่างของวงกลมมีข้อความภาษาไทยว่า สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

ข้อ ๘.  สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ อาคารกลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร เลขที่ ๕๐ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์และโทรสาร ๐๒ ๙๔๐ ๕๘๒๕

หมวด ๓

วัตถุประสงค์

ข้อ ๙.  วัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ

๙.๑ เป็นศูนย์รวมทางวิทยาการกีฏและสัตววิทยาของประเทศไทย

๙.๒ เป็นศูนย์กลางของการติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการและผู้สนใจงานด้านกีฏและสัตววิทยาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

๙.๓ ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างมวลสมาชิก

๙.๔ เป็นแหล่งผลิตและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและการปฏิบัติทางกีฏและสัตววิทยาให้แก่มวลสมาชิก เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป

๙.๕ ไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

หมวด ๔

สมาชิก

ข้อ ๑๐. สมาชิกสมาคมมี ๓ ประเภท ดังต่อไปนี้

๑๐.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลผู้มีอาชีพและสนใจในวิทยาการ สาขากีฏและสัตววิทยา ซึ่งได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตลอดชีพตามระเบียบของสมาคม และสมาคมได้รับเข้าเป็นสมาชิก

๑๐.๒ สมาชิกวิสามัญ ได้แก่บุคคลผู้มีอาชีพและสนใจในวิทยาการ สาขากีฏและสัตววิทยา ซึ่งได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกรายปีตามระเบียบของสมาคม และสมาคมได้รับเข้าเป็นสมาชิก

๑๐.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์  ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติคุณในสาขาวิชากีฏและสัตววิทยา ซึ่งคณะกรรมการได้ลงมติเชิญให้เป็นสมาชิก

ข้อ ๑๑. คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกมีดังนี้

๑๑.๑ เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์

๑๑.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

๑๑.๓ ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ

๑๑.๔ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลผู้ล้มละลายหรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ ๑๒. ผู้ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสามัญ และสมาชิกวิสามัญ ต้องยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการ และต้องมีสมาชิกสามัญรับรอง ๑ คน โดยให้เลขานุการรวบรวมใบสมัครเสนอต่อคณะกรรมการ เมื่อคณะกรรมการมีมติรับไว้เป็นสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกวิสามัญ และนายทะเบียนลงทะเบียนสมาชิกแล้ว สมาชิกผู้นั้นย่อมมีสิทธิ์และหน้าที่ตามข้อบังคับ ยกเว้นสมาชิกกิตติมศักดิ์

สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับหนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิก

ข้อ ๑๓. ผู้สมัครเป็นสมาชิกต้องชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงต่างๆ ดังนี้

๑๓.๑ สมาชิกสามัญ จะต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้า ๕๐ บาท (ห้าสิบบาทถ้วน) ค่าบำรุงชำระครั้งเดียวตลอดชีพ คนละ ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)

๑๓.๒ สมาชิกวิสามัญจะต้องเสียค่าลงทะเบียนแรกเข้า ๕๐ บาท (ห้าสิบบาทถ้วน) ค่าบำรุงเป็นรายปี ๆ ละ ๑๐๐ บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน)

๑๓.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรกและค่าบำรุงสมาคม

หมวด ๕

สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ ๑๔. สมาชิกสมาคมมีสิทธิและหน้าที่ดังนี้

๑๔.๑ มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคม

๑๔.๒ มีสิทธิได้รับวารสารของสมาคม โดยเสียค่าบำรุงอัตราพิเศษ

๑๔.๓ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมวิชาการและร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม

๑๔.๔ มีสิทธิเสนอความเห็นใดๆ เกี่ยวกับกิจการของสมาคมต่อคณะกรรมการได้  

๑๔.๕ สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้งหรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการของสมาคม และมีสิทธ์ออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง

๑๔.๖ มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

๑๔.๗ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม

๑๔.๘ มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญได้

๑๔.๙ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติและข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด

๑๔.๑๐ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม

๑๔.๑๑ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม

๑๔.๑๒ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

๑๔.๑๓ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวด ๖

สมาชิกภาพและการขาดจากสมาชิกภาพ

ข้อ ๑๕.  สมาชิกภาพของสมาชิกเริ่มตั้งแต่วันที่นายทะเบียนได้ลงทะเบียนรับเป็นสมาชิกเรียบร้อยแล้ว

ข้อ ๑๖.  สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

๑๖.๑ ตาย

๑๖.๒ ลาออกโดยการยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคม

๑๖.๓ ขาดคุณสมบัติสมาชิกตามข้อ ๑๑

๑๖.๔ ที่ประชุมคณะกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ที่เข้าร่วมประชุมมีมติให้ออกด้วยฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบของสมาคม หรือมีพฤติการณ์อันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายให้แก่สมาคม หรือด้วยเหตุอื่นใดตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว     

๑๖.๕ สมาชิกผู้ใดขาดจากสมาชิกภาพ ให้นายทะเบียนจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนและประกาศไว้ ณ ที่ทำการสมาคมไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน

๑๖.๖ สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์สิ้นสุดลงเมื่อตายหรือลาออก

หมวด ๗

คณะกรรมการ และการดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ ๑๗. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่บริหารสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย ๒๐ คน อย่างมากไม่เกิน ๓๐ คน

ข้อ ๑๘. ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีเลือกตั้งนายกสมาคม จากสมาชิกสามัญของสมาคมซึ่งอยู่ในที่ประชุม  

ข้อ ๑๙. ให้นายกสมาคมมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสามัญเป็นกรรมการเพิ่มเติมอีกไม่เกินจำนวน ๒๙ คน 

ข้อ ๒๐. ตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมการประกอบด้วย นายกสมาคม  อุปนายก  เลขานุการ เหรัญญิก ปฏิคม นายทะเบียน  ประชาสัมพันธ์  วิชาการ กรรมการกลาง ทั้งนี้นายกสมาคมอาจกำหนดตำแหน่งอื่น ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร ตำแหน่งกรรมการตามวรรคแรก มีหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้

๒๐.๑  นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก องค์การ หรือสมาชิกทั้งภายใน และต่างประเทศ และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม คณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม

๒๐.๒ อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม รับผิดชอบและปฏิบัติตามที่นายกสมาคมมอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  โดยการทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำแทน

๒๐.๓ เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคม และปฏิบัติกิจการของสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม

๒๐.๔  เหรัญญิก มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ

๒๐.๕ ปฏิคม มีหน้าที่ในการต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม

๒๐.๖ นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของ สมาคมประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก

๒๐.๗ ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่ข่าวสาร กิจการและชื่อเสียง เกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

๒๐.๘ วิชาการ มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้และจัดหาทุนเพื่อการค้นคว้าและวิจัยทางสาขากีฏและสัตววิทยา

๒๐.๙ กรรมการกลาง มีหน้าที่ช่วยเหลือการประชุม การจัดสัมมนาและสนับสนุนกิจการต่างๆ ของสมาคม

ข้อ ๒๑. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

๒๑.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับนี้

๒๑.๒ มีอำนาจว่าจ้างและเลิกจ้างเจ้าหน้าที่ของสมาคม

๒๑.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง

๒๑.๔ มีอำนาจที่จะเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ

๒๑.๕ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ หรือแต่งตั้งผู้แทนทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสมาคมประจำท้องถิ่น ให้มีหน้าที่ปฏิบัติภายในระเบียบการที่คณะกรรมการบริหารกำหนด

๒๑.๖ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

๒๑.๗ มีอำนาจกำหนดระเบียบการเงินของสมาคม เพื่อให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติ

๒๑.๘ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม

๒๑.๙ มีหน้าที่จัดประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกจำนวน ๑ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมวิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

๒๑.๑๐ มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจสอบได้เมื่อสมาชิกร้องขอ

๒๑.๑๑ จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน และจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ

๒๑.๑๒ มีหน้าที่อื่นๆ แล้วแต่กรณี โดยไม่ขัดต่อข้อบังคับนี้

ข้อ ๒๒. นายกสมาคมและกรรมการอยู่ในตำแหน่งวาระละ ๒ ปี นายกสมาคมจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๒ วาระติดต่อกัน  เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีลงมติเป็นอย่างอื่น

ข้อ ๒๓. คณะกรรมการที่ต้องออกตามวาระ ให้ทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะมีคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่

ข้อ ๒๔. ข้อกำหนดวิธีการเลือกตั้งนายกสมาคม

๒๔.๑ นายกสมาคมเป็นผู้กำหนดวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อทำการเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ ก่อนอายุของการทำงานคณะกรรมการชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงอย่างน้อยเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๑๕ วัน โดยประกาศหรือแจ้งให้สมาชิกทราบกำหนดการโดยทั่วถึงเท่าที่จะทำได้ ก่อนกำหนดการประชุมไม่ต่ำกว่า ๑๕ วัน

๒๔.๒ ให้ติดประกาศรับสมัครเลือกตั้งนายกสมาคม ณ ที่ทำงานของสมาคม หรือสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของสมาคมไม่น้อยกว่า ๕ แห่ง ก่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีไม่ต่ำกว่า ๑๕ วัน

๒๔.๓ ให้ผู้มีคุณสมบัติที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม ยื่นความจำนงต่อเลขานุการสมาคม พร้อมภาพถ่ายครึ่งตัว หน้าตรงไม่สวมหมวก จำนวน ๕ ภาพ ก่อนกำหนดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีไม่ต่ำกว่า ๗ วัน

๒๔.๔ ให้เลขานุการดำเนินการติดประกาศรายชื่อ พร้อมภาพถ่ายผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกสมาคม ณ สถานที่ที่กำหนดตามข้อ ๒๔.๒ ก่อนการเลือกตั้งในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีไม่ต่ำกว่า ๕ วัน

๒๔.๕ ให้สมาชิกที่อยู่ในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีเสนอชื่อประธานการเลือกตั้งจากสมาชิกที่เข้าประชุม โดยในการเลือกประธานการเลือกตั้ง ให้มีการลงคะแนนอย่างเปิดเผย จากนั้นให้ประธานการเลือกตั้งแต่งตั้งกรรมการอีกจำนวน ๕ นาย เพื่อดำเนินการเลือกตั้ง โดยกรรมการเลือกตั้งต้องไม่เป็นกรรมการบริหารในเวลานั้น

๒๔.๖ ให้ประธานการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งตามข้อ ๑๘ ประกาศรายชื่อ พร้อมทั้งประวัติย่อของสมาชิกผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมต่อที่ประชุม จากนั้นให้ผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งได้แถลงนโยบายการทำงานของแต่ละบุคคลที่สมัครตามลำดับหมายเลข

๒๔.๗ ให้สมาชิกสามัญที่เข้าประชุมออกเสียงเลือกตั้ง โดยการกาเครื่องหมาย ในบัตรเลือกตั้งตามหมายเลขที่ตนต้องการเลือกนายกสมาคม

๒๔.๘ ให้คณะกรรมการเลือกตั้งนับคะแนนให้เสร็จสิ้นโดยยุติธรรมและประกาศชื่อผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุดเป็นนายกสมาคม และประกาศให้สมาชิกทราบทั่วกัน

๒๔.๙ ให้นายกสมาคมที่ได้รับการเลือก แต่งตั้งสมาชิกสามัญเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมให้เสร็จเรียบร้อยภายใน ๑๕ วันภายหลังการเลือกตั้ง แล้วแจ้งให้สมาชิกทราบโดยทั่วถึงกัน

หมวด  ๘

การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ

ข้อ ๒๕. กรรมการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

๒๕.๑ ตาย

๒๕.๒ ลาออก โดยยื่นหนังสือต่อนายกสมาคม

๒๕.๓ ครบวาระ

๒๕.๔ ขาดจากการเป็นสมาชิกภาพ

๒๕.๕ เมื่อเลิกสมาคม

๒๕.๖ ที่ประชุมใหญ่มีมติให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล

๒๕.๗ คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อนายกสมาคมลาออก หรือที่ประชุมใหญ่สามัญ หรือวิสามัญลงมติไม่ไว้วางใจนายกสมาคม

๒๕.๘ นายกสมาคมสามารถเปลี่ยนแปลงกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งได้โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสมาคมก่อน

ข้อ ๒๖. ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม นอกจากที่ต้องออกตามวาระ ให้นายกสมาคมโดยมติคณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญเป็นกรรมการแทนในตำแหน่งที่ว่าง กรรมการที่เข้ามาแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เท่าวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ ๒๗. เมื่อคณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ทำบันทึกส่ง รับมอบงาน พร้อมส่งมอบทรัพย์สินและบัญชีทรัพย์สิน  ตลอดจนเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี แก่กรรมการชุดใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

หมวด  ๙

การประชุมคณะกรรมการบริหาร

ข้อ ๒๘. คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละ ๔ ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ ๒๙. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของคณะกรรมการบริหารให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๓๐. ในการประชุมคณะกรรมการ หากนายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม

 
หมวด  ๑๐
กรรมการที่ปรึกษา

ข้อ ๓๑. คณะกรรมการอาจเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ที่เคยเป็นนายกสมาคม หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคมเป็นกรรมการที่ปรึกษาได้ตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๓๒. กรรมการที่ปรึกษามีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการในการบริหารงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคม

ข้อ ๓๓. กรรมการที่ปรึกษาพ้นจากตำแหน่งพร้อมกับการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการชุดที่แต่งตั้ง

หมวด  ๑๑
การประชุมใหญ่

ข้อ ๓๔. การประชุมใหญ่ของสมาคม  มีดังนี้

๓๔.๑ ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

๓๔.๒ ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ ๓๕. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ ๑ ครั้ง ภายในเดือน กรกฎาคม ของทุกๆ ปี

ข้อ ๓๖. การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นสมควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของสมาชิกทั้งหมด ร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ ๓๗. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกทราบ และการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุ วัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดวันประชุมใหญ่

ข้อ ๓๘. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ต้องมีระเบียบวาระการประชุมอย่างน้อย ดังนี้

๓๘.๑ แถลงผลงานของคณะกรรมการในรอบปีที่ผ่านมา

๓๘.๒ แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และงบดุลประจำปีที่ผ่านมา

๓๘.๓ เลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมชุดใหม่เมื่อครบกำหนดวาระ

๓๘.๔ เลือกตั้งผู้สอบบัญชี

๓๘.๕ เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)

ข้อ ๓๙. ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือประชุมใหญ่วิสามัญ จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกพอสมควร แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยายออกไปแล้ว ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ก็ให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นไปและให้จัดประชุมใหม่อีกครั้งหนึ่งภายใน ๑๔ วัน หากสมาชิกสามัญมาประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ ๔๐. การลงมติในที่ประชุมใหญ่ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๔๑. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม หากนายกสมาคมและอุปนายกไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

ข้อ ๔๒. การประชุมทางวิชาการ ให้มีการประชุมทางวิชาการหรือปาฐกถาเป็นครั้งคราว

หมวด  ๑๒

การเงิน และทรัพย์สิน

ข้อ ๔๓.  รายได้ของสมาคม มีดังนี้

๔๓.๑ เงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงของสมาชิก

๔๓.๒ เงินหรือทรัพย์สินบริจาค

๔๓.๓ เงินรายได้จากการจัดพิมพ์เอกสารวิชาการ

๔๓.๔ เงินจากการจัดกิจกรรมอื่นๆ

๔๓.๕ ดอกผล

ข้อ ๔๔. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคมให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของคณะกรรมการ

ข้อ ๔๕. การรับเงินของสมาคมทุกครั้งจะต้องออกใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการจ่ายเงินทุกประเภทจะต้องมีใบสำคัญเป็นหลักฐาน และต้องเก็บหลักฐานการรับจ่ายเงินไว้ เพื่อทำการตรวจสอบไม่น้อยกว่า ๕ ปี

ข้อ ๔๖. เงินของสมาคมต้องนำฝากไว้ที่ธนาคารหนึ่งธนาคารใด หรือสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร เว้นแต่กรณีเงินบริจาคซึ่งผู้บริจาคกำหนดเงื่อนไขไว้เป็นอย่างอื่น

ข้อ ๔๗. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนฝ่ายหนึ่งลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขานุการอีกฝ่ายหนึ่ง พร้อมกับประทับตราของสมาคมเป็นสำคัญ

ข้อ ๔๘. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการก่อน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ไม่อาจนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการได้ ก็ให้อยู่ในดุลพินิจของนายกสมาคมที่จะอนุมัติให้จ่ายไปก่อนได้แต่ต้องไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)

ข้อ ๔๙. เหรัญญิกเก็บเงินสดไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)

ข้อ ๕๐. การจ่ายเงินแต่ละครั้งเกินกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) จะต้องได้รับอนุมัติจากนายกหรืออุปนายกสมาคมก่อน หากการจ่ายเงินเกินกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการก่อน

ข้อ ๕๑. งบการเงินของสมาคมสิ้นสุดในวันที่ ๓๐ มิถุนายนของทุกปี ให้เหรัญญิกนำบัญชีงบการเงินเสนอคณะกรรมการภายในเดือนกรกฎาคมของทุกปี และแถลงบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้สมาชิกทราบในการประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ ๕๒. ให้คณะกรรมการบริหาร เลือกผู้สอบบัญชีซึ่งได้จดทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมายและจะต้องมิได้เป็นกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม เสนอให้สมาชิกในที่ประชุมใหญ่แต่งตั้ง

ข้อ ๕๓. ผู้ตรวจสอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการ และสามารถจะเรียกกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ ๕๔. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจสอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

 

หมวด  ๑๓

การออกระเบียบและการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

ข้อ ๕๕. คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบเพื่อบริหารกิจการสมาคมตามข้อบังคับกำหนด ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดแย้งกับข้อบังคับหรือวัตถุประสงค์ของสมาคมและกฎหมายหรือระเบียบของราชการ ระเบียบที่ออกตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลบังคับใช้หลังจากแจ้งให้สมาชิกทราบและปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการสมาคมแล้วไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน

ข้อ ๕๖. ข้อบังคับของสมาคมจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญเท่านั้น และต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

หมวด  ๑๔

การเลิกสมาคม

ข้อ ๕๗. สมาคมนี้จะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ยกเว้นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย องค์ประชุมที่ประชุมใหญ่เพื่อเลิกสมาคม ต้องมีสมาชิกสามัญมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่จริงในขณะนั้น  และมีมติที่ให้เลิกสมาคมต้องไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ ๕๘. เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของนิติบุคคลแห่งประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใด หรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุม

หมวด  ๑๕

บทเฉพาะกาล

ข้อ ๕๙. นายกสมาคม คณะกรรมการสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนหรือในวันที่ใช้ข้อบังคับนี้ ให้เป็นคณะกรรมการสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทยได้ตามข้อบังคับนี้

ข้อ ๖๐. ผู้ที่เป็นสมาชิกสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทยอยู่ก่อนหรือในวันที่ใช้ข้อบังคับนี้ให้เป็นสมาชิกสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทยได้ตามข้อบังคับนี้

ข้อ ๖๑. บรรดาระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ก่อนประกาศใช้ข้อบังคับนี้ยังคงใช้ได้ต่อไปเฉพาะส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้