โครงการค่ายเยาวชน รู้รักษ์ รู้ค่า ไพรพนาป่าเขา
สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย
หลักการ
จากปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งสภาพน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินเสื่อมโทรมและขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องมาจากการที่มนุษย์นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้มาก จนเกินความสามารถที่ธรรมชาติจะฟื้นคืนสภาพได้ตามธรรมชาติ สาเหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากประชาชนหรือชุมชนยังขาดจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์ป่า เขา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง ที่ผ่านมามีกลไกหลากหลาย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การเฝ้าระวัง อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทั้งจากการปฏิบัติและการปลูกจิตสำนึก การจัดกิจกรรมค่ายจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เปิดโลกทัศน์และเสริมสร้างประสบการณ์ตรง รับรู้และสัมผัสธรรมชาติหลาย ๆ ด้าน ช่วยให้เกิดการซึมซับ ประจักษ์ด้วยตนเองถึงการรู้รักษ์ รู้ค่าของป่า เขา อีกทั้งเป็นการสร้างสรรค์ให้เยาวชน ซึ่งเป็นกำลังของชาติในอนาคต สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การเกื้อกูล ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนสืบทอดแนวคิดไปสู่ครอบครัวและชุมชนต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักถึงคุณค่าของป่า เขา ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า เขา ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสังคมส่วนรวม
สถานที่
พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
กลุ่มเป้าหมาย
ตัวแทนเยาวชน และนักเรียนในชุมชนบริเวณโดยรอบสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จำนวน ๑๐๐ คน
วิธีดำเนินการ
๑. กิจกรรมการศึกษาเส้นทางธรรมชาติภายในสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช
๒. กิจกรรมค่ายปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
๒.๑ ระบบนิเวศที่ยั่งยืน
๒.๒ ป่าไม้แหล่งปัจจัย ๔ ของมนุษย์
๒.๓ ใช้พลังงานอย่างรู้ค่ารักษาสิ่งแวดล้อม
๒.๔ ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงและนกในท้องถิ่น
๒.๕ สัตว์ป่าผู้น่ารัก
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
เยาวชนได้รับการเรียนรู้และประสบการณ์ตรง เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของป่าเขา ที่ทำให้เกิดความหลากหลายของระบบนิเวศตามธรรมชาติในท้องถิ่น เห็นคุณค่าและตระหนักในการอนุรักษ์ป่า เขา สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากขึ้น การจัดกิจกรรมลักษณะนี้จะทำให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติที่มีป่า เขา รู้รักษ์ รู้ค่าของสรรพสิ่งทั้งหลายที่ต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกันในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเยาวชนเพื่อการปลูกจิตสำนึกในการที่จะรักษาและหวงแหนธรรมชาติเหล่านี้ให้ยั่งยืนต่อไป
บัญญัติ ๑๐ ประการ
วิธีประหยัดพลังงานสำหรับเยาวชน (โดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน)
- ตักอาหาร เราทานให้หมด
- เมื่อไม่ใช้ ช่วยกันปิดไฟ
- ช่วยกันคนละนิด ปิดน้ำให้สนิทเมื่อไม่ใช้
- เปิดทีวี เราดูด้วยกัน
- กระดาษนั้นเขียนให้คุ้มสองหน้า
- ทางเดียวกันไปด้วยกันประหยัดน้ำมัน ตั้งแยะ
- ลดแอร์สักนิดไม่ต้องติดเสื้อหนาว
- ดินสอเราใช้ให้หมดแท่ง
- ยางลบเราใช้จนหมด
- ถือถุงผ้าหรือตะกร้า ไม้ต้องง้อถุงพลาสติก
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช
ที่ตั้ง สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชตั้งอยู่ในเขตตำบลภูหลวง อำเภอปักธงชัย ตำบลวังน้ำเขียว และตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองนครราชสีมาระยะทาง ประมาณ 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา-นครราช-สีมา) และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 300 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 78.08 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 48,800 ไร่ มีแนวเขตทางด้านตะวันออกติดทางหลวงหมายเลข 304 เป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร
ในปี 2519 UNESCO ภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑล (Man and Biosphere, MAB) ได้รับรองให้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชเป็นแหล่งสงวน ชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลก ในปี พ.ศ. 2543 UNESCO/MAB ได้มีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนแหล่งสงวนชีวมณฑลพร้อมทั้งขยายพื้นที่แหล่งสงวนชีวมณฑลที่มีอยู่เดิม ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งสงวนชีวมณฑลของประเทศไทย ได้มีความคิดที่จะขยายพื้นที่ของแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราชออกไปจากเดิมที่มีอยู่ 48,800 ไร่ เป็น 481,969 ไร่ หรือประมาณ 771 ตร.กม. โดยครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ของอำเภอวังน้ำเขียว ได้แก่ตำบลอุดมทรัพย์ วังน้ำเขียว วังหมีไทยสามัคคี ระเริง และ 6 ตำบลของอำเภอปักธงชัย ได้แก่ ตำบลภูหลวง ตะขบ ตูม สุขเกษม ลำนางแก้ว และ งิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 48,800 ไร่ หรือ 78.08 ตร.กม. เป็นขอบด้านใต้ของที่ราบสูงโคราช มีความสูงระหว่าง 280-762 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาสูงที่อยู่ทางด้านใต้ของพื้นที่สถานี ได้แก่ เขาเคลียด (762 เมตร) เขาเขียว (๗๒๙ เมตร) และเขาสูง (725 เมตร) ส่วนความลาดชัน อยู่ระหว่าง 10-30 และ 30-45 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
สำหรับในพื้นที่แหล่งสงวนชีวมณฑสะแกราชตามที่ได้กำหนดใหม่ ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ ประมาณ 771 ตร. กม. นั้น ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาทางด้านเหนือ ซึ่งรวมพื้นที่ของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชด้วย โดยลักษณะภูเขาดังกล่าวจะวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ยอดเขาสูงสุดได้แก่ เขาโซ่ มีความสูงประมาณ 807 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของเขื่อนลำพระเพลิง ส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่แหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราช เป็นช่วงที่ราบระหว่างภูเขาหรือแอ่งวังน้ำเขียว มีความสูงเฉลี่ย 300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชปกคลุมด้วยป่าไม้สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ป่าดิบแล้ง Dry Evergreen forest)และป่าเต็งรัง) Dry Dipterocarp forest) พันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าดิบแล้งชนิดนี้ประกอบด้วย( ตะเคียนหิน (Hopea ferrea (ตะเคียนทอง (Hopea adorata) กระเบากลัก (Hydnocarpus ilicifolius เป็นต้น ส่วนป่าเต็งรัง ประกอบด้วย (เต็ง (Shorea obtuse) รัง) horea Siamensis (พะยอม (Shorea floribunda เป็นต้น ป่าทั้งสองชนิดครอบคลุมเนื้อที่ประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ สถานีฯ สะแกราช นอกนั้นเป็นป่าชนิดอื่น เช่น ป่าไผ่ ป่าปลูก ทุ่งหญ้า เป็นต้น
ส่วนในพื้นที่ของแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราช ซึ่งมีเนื้อที่ 771 ตร.กม. ที่นอกเขตสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชมีลักษณะการใช้ที่ดินที่แตกต่างกันออกไป ประกอบด้วยพื้นที่ป่าไม้ซึ่งมีทั้งป่าธรรมชาติและป่าปลูกส่วนใหญ่อยู่บริเวณภูเขาทาง ด้านตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ส่วนทางด้านใต้ซึ่งอยู่ในแอ่งวังน้ำเขียวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหลากหลายชนิดทั้ง ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น นอกจากนั้น ได้มีการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น
ฐานที่ 1 แมลงมีค่าล้ำ นำธรรมชาติสมดุล เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องแมลง ทั้งความหลากหลายของรูปร่าง สีสัน ประโยชน์และโทษของแมลง ความสัมพันธ์ระหว่างแมลงกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการอนุรักษ์แมลงชนิดต่างๆ ให้คงอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ฐานที่ 2 สถานีอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้นักเรียนรู้จักเครื่องมือที่ใช้ตรวจวัด เก็บข้อมูล ตลอดประโยชน์ที่ได้รับจากอุตุนิยมวิทยา
ฐานที่ 3 บล็อกประสาน วว. เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ และเข้าใจในการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ผสมผสานกับการนำเทคโนโลยี จนทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์สำหรับมนุษย์ โดยเป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนไม้ และเพิ่มปริมาณการใช้แรงงานในท้องถิ่น และก่อให้เกิดรายได้
ฐานที่ 4 ห้องนิทรรศการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักเรียนรู้จักลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะเด่นของป่าในป่าสะแกราช และความรู้เรื่องความหลากหลายของสัตว์ต่าง ๆ ในป่าสะแกราช รวมทั้งสัตว์หายากและสัตว์ประจำถิ่นในป่าสะแกราช
ฐานที่ 5 พรรณไม้น่ารู้ เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้พรรณไม้ในป่าสะแกราช
ฐาน 6 ความสูงของต้นไม้ เพื่อฝึกการวัดความสูงของต้นไม้โดยใช้สายตาฝึกการใช้เครื่องมือและฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม
กิจกรรม ศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาประเภทของป่าไม้ในพื้นที่สถานีฯ ความหลากหลายทางพันธุ์พืชของแต่ละป่า พันธุ์สัตว์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
กิจกรรม การศึกษาสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตบนผิวหน้าดิน เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตบนดินและใต้ผิวดินของพื้นที่ป่าสะแกราชในแง่ของห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหาร
กิจกรรม แมลงกับแสงไฟ ในอาณาจักรสัตว์ (Animal Kingdom) นั้น 75 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ทั้งหมดคือแมลง แมลงเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในชั้น (Classs) Insecta หรือ Hexapoda ลักษณะทั่วไปที่เด่นชัดของแมลงคือลำตัวแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มีหนวด 1 คู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นปล้อง ตัวเต็มวัยมีขา 3 คู่ มีปีก 1 หรือ 2 คู่ หรือบางชนิดไม่มีปีก
แมลงยังเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมายาวนานมากกว่า 4๐๐ ล้านปี จึงนับว่าแมลงเป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในการดำรงชีพมากกว่าสัตว์อื่นๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากแมลงมีคุณสมบัติพิเศษเหนือสัตว์อื่นหลายประการ กล่าวคือ แมลงเป็นสัตว์ที่มีขนาดตัวเล็ก จึงมีความต้องการที่อยู่อาศัยตลอดจนปริมาณอาหารเพื่อการดำรงชีพไม่มากนัก คุณลักษณะพิเศษต่อมาคือแมลงเป็นสัตว์ที่มีโครงกระดูกอยู่ภายนอกลำตัว (exoskeleton) จึงสามารถปกป้องอันตรายจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แมลงยังมีความสามารถอย่างดีเยี่ยมในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม จึงพบว่ามีแมลงอาศัยอยู่ทุกหนทุกแห่งในโลกนี้ และคุณลักษณะพิเศษข้อสุดท้ายคือแมลงเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตสั้น สามารถขยายพันธุ์และเพิ่มปริมาณได้ครั้งละมากๆ ดังนั้นแมลงจึงสามารถเพิ่มจำนวนประชากรและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
ความสำคัญของแมลงที่มีต่อพืช
1. เป็นศัตรูพืช (Pests)
2. เป็นพาหะนำโรค (Vectors)
3. เป็นตัวห้ำ (Predators)
4. เป็นตัวเบียน (Parasites)
5. ช่วยผสมเกสร (Pollinators)